เกษตรที่สูงตาก จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพืชเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามโครงการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก ปี 2568 ณ บ้านมะโอโคะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

โดย นายโชคชัย แซ่มี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) และ นางสาวจุรีพร เพียรทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จัดกิจกรรมในครั้งนี้

โดยมี ร้อยตรีธนวัฒน์ สิริสุภา และเจ้าหน้าที่ ชุดปฏิบัติการประสานงานและคุ้มครองป้องกันชุมชน โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านมะโอโคะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ให้ความอนุเคราะห์ประสานงานและร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีด้านการผลิต และการบริหารจัดการไม้ผล (อะโวคาโด ทุเรียน) บนพื้นที่สูง เช่น การคัดเลือกเมล็ดและต้นพันธุ์ที่แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืช วิธีการปลูก การดูแลบำรุงรักษาต้นพันธุ์ การจัดการแปลง เทคนิคการขยายพันธุ์ ตลอดจนการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจในการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามศักยภาพ ในวิถีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการประกอบอาชีพ มีอาหารบริโภคและลดรายจ่ายในครัวเรือนเป็นหลัก อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกไม้ผลเศรษฐกิจ เพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดียว และลดการเผาป่าในพื้นที่

ณ บ้านมะโอโคะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

โดย โครงการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก มีความเป็นมาจากปัญหาพื้นที่ชายแดนมีปัญหาและภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือในบริเวณแนวชายแดนไทย – สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ของจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก ลักษณะพื้นที่บริเวณแนวชายแดนดังกล่าวมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน การเดินทางยากลำบากส่งผลให้ราษฎรชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อย ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการต่างๆของรัฐ อีกทั้งสภาพภูมิประเทศที่เป็น ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบเพียงบริเวณหุบเขาบางแห่งเท่านั้นที่สามารถปลูกพืชไร่เพื่อการดำรงชีพได้ ส่งผลให้สภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ชายแดนมีระดับต่ำกว่ามาตรฐาน รวมถึงปัญหาด้านความมั่นคงอีกหลายประการ เช่น ปัญหาความไม่ชัดเจนของ เส้นเขตแดน ปัญหาผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ การลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ปัญหายาเสพติด และปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร
ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้พระราชทานแนวทางการดำเนินงานในภาพรวม และในพื้นที่เฉพาะ เช่น หมู่บ้านยามชายแดน เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมในการเสริมสร้างความมั่นคงบริเวณชายแดน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงาน ในลักษณะบูรณาการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของคน ชุมชน พัฒนายกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการมีความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างถาวร

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหนี่งที่ร่วมบูรณาการในการขับเคลื่อนโครงการฯ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) และแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเสริมความมั่นคงเชิงพื้นที่ (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยได้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ที่เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำการเกษตรและการดำเนินชีวิต มีการวิเคราะห์พื้นที่ สินค้า คน ที่มาจากปัญหาความต้องการและสภาพภูมิสังคมภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่าย และมีรายได้เพิ่มขึ้น

You may also like...