เกษตรที่สูงตาก ร่วมประชุมเพื่อวางแผนการลดการเผาในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านห้วยน้ำเย็น

วันที่ 17 มกราคม 2567
เกษตรที่สูงตาก ร่วมประชุมเพื่อวางแผนการลดการเผาในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านห้วยน้ำเย็น
โดย นายธนากร โปทิกำชัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง)
ร่วมกับ นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
นายเดชพล กล่อมจอหอ ผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการ หลวงกลุ่ม 4 ลุ่มน้ำสาละวิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการ และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ร่วมประชุมในครั้งนี้
เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวางแผนการลดพื้นที่การเผา การลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่พื้นที่ เนื่องจากพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านห้วยน้ำเย็นเป็นป่าต้นน้ำ ซึ่งมีการปลูกข้าวโพดจำนวนมาก เกษตรกรมีการเผาเพื่อทำลายตอซังข้าวโพดเป็นจำนวนมากในช่วงการเตรียมพื้นที่ ดังนั้นจึงเกิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม คือปัญหาการเผาในพื้นที่ป่าและภาคการเกษตร โดยเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านห้วยน้ำเย็นที่ได้มีการวางแผนการรณรงค์ลดพื้นที่การเผา จำนวน 4 แผนงาน คือ
1.แผน A แปลงเกษตรกรเข้าร่วมหยุดเผาถาวร จำนวน 500 ไร่ คือ มีการไถกลบตอซังข้าวโพด ทำคันปุ๋ย ทำกองปุ๋ยหมัก และวางแผนใช้ระบบการเกษตรแบบปราณีต มุ่งเน้นการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเป็นหลัก ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ตอบแทนมากกว่าการปลูกข้าวโพด
2.แผน B แปลงเกษตรกรทำการไถกลบตอซังข้าวโพด จำนวน 1,000 ไร่
3.แผน C แปลงเกษตรกรไม่ไถตอซังข้าวโพดและไม่เผา จำนวน 1,500 ไร่
4.แผน D แปลงเกษตรกรที่ไม่สามารถไถตอซังข้าวโพดได้ เข้าร่วมแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามมาตรการที่กำหนด จำนวน 2,000 ไร่
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูง) ได้มีการดำเนินงานในพื้นที่ โดยได้มีการบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ้านห้วยน้ำเย็น ผู้นำชุมชุน เกษตรกรในพื้นที่ในด้านการส่งเสริมถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตร สนับสนุนการปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ส่งเสริมการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ได้แก่ อะโวคาโดและมะม่วง พร้อมสร้างเกษตรกรต้นแบบด้านไม้ผลในพื้นที่ โดยเน้นการทำงานในแผน A เป็นหลัก
เกษตรกรได้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดไปปรับใช้ในพื้นที่ของตน เช่น การจัดวางผังแปลงก่อนการปลูกพืชทำให้ดูแลรักษา พ่นยา ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืชได้ง่าย การปลูกพืชโดยดูทิศทางของแสง ทำให้พืชได้รับแสงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การเพาะเมล็ด การฝานบวบ การเสียบลิ่ม การเสียบเปลือกข้าง การเสริมราก เป็นต้น ซึ่งพบว่าวิธีการต่างๆ เหล่านี้ช่วยขยายพันธุ์อะโวคาโดและพืชชนิดอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น สามารถ ลดต้นทุนในการซื้อต้นพันธุ์ ซึ่งยังอาจเป็นแหล่งรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิต ต้นกล้า และกิ่งพันธุ์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนนำพื้นที่บางส่วนที่ในอดีตมักปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว (ข้าวโพด มันสำปะหลัง นาข้าว ฯลฯ) มาปลูกอะโวคาโดกันมากขึ้น เนื่องจากได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของเกษตรกรต้นแบบและแปลงอะโวคาโดต้นแบบในพื้นที่ โดยทางศูนย์ฯได้เข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ และสนับสนุนต้นพันธุ์และปัจจัยการผลิต พร้อมทั้งนำเกษตรกรปฏิบัติจริงในแปลงเพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ด้วยตน ในปี 2566 พบว่าอะโวคาโดของเกษตรกรบางรายให้ผลผลิตแล้ว สามารถเก็บออกจำหน่ายได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่หลากหลายมากขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดการตัดไม้ทำลายป่าและลดการเผาถาวรในพื้นที่การเกษตรได้
จากการลงพื้นที่ทำให้เห็นความตั้งใจจริงของชุมชนบ้านห้วยน้ำเย็น ที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชที่ลดการเผา และพร้อมให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ และแผนการบริหารจัดการเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแผน
ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะบ้านห้วยน้ำเย็น หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก

You may also like...